วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิถีประชาธิปไตยกับการพัฒนาจริยธรรม


วิถีประชาธิปไตยกับการพัฒนาจริยธรรม
ปัจจุบัน ประชาชนชาวไทยเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย และความไม่สงบสุขในบ้านเมือง การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งจะมีการลงประชามติกันในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ ที่จะถึงนี้ ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจคำว่า “ประชามติ ” ว่า หมายถึง มติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่แสดงออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือที่ใดที่หนึ่ง ( plebiscite ) มติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายสำคัญที่ได้ ผ่านสภา นิติบัญญัติแล้ว หรือให้ตัดสินใจปัญหาสำคัญในการบริหารประเทศ วิกฤตทางการเมืองที่ เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย สาเหตุจากกลุ่มคนบางกลุ่มขาดคุณธรรม จริยธรรม ไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ คำถามที่พยายามหาคำตอบว่าทำอย่างไรให้ ประชาชนไปเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอย่าง ถูกต้อง และเป็นประชาธิปไตยไม่ถูกซื้อเสียง เพื่อเลือกคนดีมาบริหารประเทศ บทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ น่าจะเป็นบทเรียนที่ชี้ให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดควบคู่กับปัญหาคุณธรรม เพราะขาดความสามัคคี ความเอื้ออาทร และจริงใจต่อตนเองและต่อประเทศชาติ ประการสำคัญประชาชนชาวไทยต้องเข้าใจเข้าถึงคำว่า “ ประชาธิปไตย ” ว่าหมายความว่าอย่างไร พร้อม ๆ กับการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของความพอ เพียง ซึ่งหมายถึง พอเพียงในการดำเนินชีวิต พอเพียงในความคิด คือจิตสำนึกในการพิจารณาในการกระทำของตนเองมิให้มีผลกระทบทำให้ส่วนรวมเกิดความเดือดร้อน การคำนึงถึงส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
คำว่า “ ประชาธิปไตย ” แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Democracy ซึ่งคำนี้มาจากคำว่า Demokration ในภาษากรีกแปลว่า การปกครองของประชาชน หรือ “ ประชาธิปไตย ” หมายถึง ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ดังนั้นประชาธิปไตยจะดี ก็อยู่ที่ประชาชนที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจว่า จะต้องเป็นคนดีและมีปัญญา โดยที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ มีอำนาจตัดสินใจ วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ในเรื่องนี้พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)ให้ข้อสังเกตไว้ ๒ ประการคือ


 ๑. ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนโง่ เสียงข้างมากที่วินิจฉัยก็จะเป็นการตัดสินใจเลือกอย่างโง่ ๆ หรือแม้แต่เลือกไปตามที่ถูกเขาหลอกล่อ ทำให้ผิดพลาดเสียหาย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนดี มีปัญญา ก็จะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจเลือกได้ถูกต้อง บังเกิดผลดี จึงต้องให้ประชาชนมีการศึกษา หรือจะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจอย่างผู้มีปัญญา
 ๒. ความจริงของสิ่งทั้งหลายย่อมเป็นอย่างที่มันเป็น มันย่อมไม่เป็นไปตามการบอก การสั่ง การลงคะแนนเสียง หรือตามความต้องการของคน ดังนั้น คนจะไปตัดสินความจริงไม่ได้ แต่เป็นหน้าที่ของคนเองที่จะต้องตัดสินใจเลือกสิ่งที่เป็นจริง จึงต้องให้ประชาชนมีการศึกษา เพื่อจะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจเลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องเป็นจริง
ประเทศ ไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตยตั้งแต่นั้นมา นับเวลาถึงปัจจุบันประมาณ ๗๕ ปี ลักษณะอุปนิสัย ทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจนแนวความคิดของคนไทย ยังไม่พัฒนาถึงขนาดที่จะมีประชาธิปไตยเต็มรูปแบบได้ การปกครองระบอบประชาธิปไตยก็ย่อมกระพร่องกระแพร่งบ้างเป็นธรรมดา ดังนั้นเราจะต้องช่วยกันปูพื้นฐาน “ วิถีประชาธิปไตย ” และ “ พัฒนาจริยธรรม ” ที่สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราให้ได้ด้วย การปูพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนชาวไทยมีหลักสำคัญดังนี้
วิถีประชาธิปไตยประการที่ ๑ เอาเหตุผลและความรู้จากประสบการณ์เป็นหลักในการดำเนินชีวิต เหตุผลที่ว่านี้ต้องเป็นเหตุผลที่ทุกฝ่ายรับได้ และไม่ขัดต่อมติของปวงชนในสังคมจะใช้เหตุผลเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัวไม่ได้ คือ ในการติดต่อสัมพันธ์กับเพื่อมนุษย์ได้ในสังคมเราใช้เหตุผล เคารพเหตุผลทั้งของเขาและของเรา และควรใช้ความรู้สึกที่ได้มาจากประสบการณ์ในอดีตเป็นหลัก ถ้ารู้ว่าทำอย่างไรไว้ไม่ดีในอดีตก็ต้องเลิกทำในปัจจุบันและอนาคต ถ้าสิ่งใดความรู้สึกจากประสบการณ์ในอดีตบอกเราว่าเป็นผลดีทั้งสองฝ่าย เราก็เอาความรู้นั้นมาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตในปัจจุบันและอนาคตในการติดต่อ สัมพันธ์กับผู้คน
วิถีประชาธิปไตยประการที่ ๒ ให้ ความสำคัญแก่เอกชนพร้อม ๆ กับการเคารพมติมหาชน คือ เราต้องให้ความสำคัญแก่เอกชนพร้อม ๆ กับการเคารพมติมหาชน และทำตามมติมหาชน เพราะเอกชนรวมกันเป็นมหาชน ถ้าเอกชนไม่มีความสุข มหาชนจะมีความสุขได้อย่างไร ในระบอบประชาธิปไตยมีเสียงคัดค้านได้ทุกเมื่อ ถ้าคนส่วนใหญ่คัดค้านรัฐบาล ก็ต้องลาออกไป ไม่มีสิทธิห้ามการคัดค้าน การดำเนินชีวิตประจำวัน ตามวิถีประชาธิปไตยเราต้องยอมรับว่า ไม่มีทางที่จะให้ถูกใจคนทุกคน แต่ควรระวังอย่าให้ไม่ถูกใจคนส่วนใหญ่ก็แล้วกัน

วิถีประชาธิปไตยประการที่ ๓ คือเราถือว่ารัฐเป็นเพียงเครื่องมือของประชาชน รัฐต้องรับใช้ประชาชน ไม่ใช่รัฐเป็นนาย ประชาชนเป็นทาส วิถีประชาธิปไตย คือ วิถีทางของประชาชนผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน การพัฒนาจริยธรรมหรือทัศนคติหรือค่านิยม และหลักของความประพฤติในสังคมประชาธิปไตย จึงต้องสอดคล้องกับมติของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

วิถีประชาธิปไตยประการที่ ๔ การใช้ความสมัครใจเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่การบีบคั้นหรือบังคับเพราะการบีบคั้นหรือบังคับน้ำใจกันทุกรูปแบบเป็นเผด็จการ
วิถีประชาธิปไตยประการที่ ๕ คือ การเคารพปฏิบัติตามกฎหมายและยึดหลักการของกฎหมาย และความเป็นธรรมในสังคม เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เมื่อมีกฎหมายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่ดีไม่ทำให้สังคมมีความสุข ขาดความเป็นธรรม ต้องหาทางยกเลิกกฎหมายเสียก่อน ไม่ใช่ปฏิบัติตามกฎหมายเฉย ๆ อย่างนั้นเอง ด้วยความไม่พอใจในสาระของกฎหมาย
วิถีประชาธิปไตยประการที่ ๖ ถือว่า “ วิธีการ ” มีความสำคัญไม่น้อยกว่าผลสำเร็จ ปั้นปลายของงานที่ทำ ดังนั้นจะทำสิ่งใดไม่ใช่สักแต่ให้สำเร็จ จะใช้วิธีอย่างไรก็ได้อย่างนั้นไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย ถ้าวิธีการทำงานนั้นไร้ความเป็นธรรม และไม่สมเหตุผล ความสำเร็จหากจะมีก็ไม่ใช่สิ่งที่คนในวิถีประชาธิปไตยจะยกย่องนับถือ
วิถีประชาธิปไตยประการที่ ๗ การให้โอกาสแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้สิทธิที่จะอภิปราย หรือแสดง ความคิดเห็นส่วนตัวประกอบ หรือให้เขาออกความเห็นก่อนที่จะเรียกร้องให้เขาตกลงใจไม่ว่าในเรื่องใด ๆ เพราะในโลกเสรีประชาธิปไตยนั้น ความคิดเห็นของแต่ละคนมีความสำคัญทั้งนั้น ไม่ใช่จะรับฟังแต่ความคิดของผู้มีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียวก็เป็นการเพียงพอ

วิถีประชาธิปไตยประการที่ ๘ ได้แก่การเคารพในสิทธิอันเสมอภาคกันของมวลมนุษยชาติ โดยต้องถือว่าทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันฐานันดรศักดิ์ ชาติกำเนิด ตำแหน่งหรือฐานะ ทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างใดก็ตามไม่ก่อให้เกิดอภิสิทธิ์แก่บุคคลใด จนเป็นเหตุให้บุคคลนั้นเหนือผู้อื่น ตรงกันข้ามคนทุกคนต้องมีความเสมอภาคกัน อย่างน้อยที่สุดเสมอภาคในสิทธิขั้นมูลฐาน ในฐานะที่เป็นมนุษยชาติด้วยกัน
ในโลกของเผด็จการนั้น บุคคลไม่มีทางที่จะเท่าเทียมกัน พวกพ้องของผู้มีอำนาจย่อมเป็นใหญ่ และมีอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่นเสมอ นี่เองคือ ความแตกต่างกันระหว่างวิถีประชาธิปไตยกับวิถีทางแห่งเด็จการ
ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนนั้น เป็นการเตือนให้รู้สึกตัวว่า คุณภาพของประชาธิปไตยอยู่ที่คุณภาพของประชาชน คุณภาพของประชาธิปไตยวัดได้จากผู้ปกครอง เมื่อประชาชนเป็นผู้ปกครอง บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพแค่ไหน ก็อยู่ที่คุณภาพของประชาชนเป็นสำคัญ พระธรรมปิฎกได้นิยามประชาธิปไตยโดยให้ความสำคัญในแง่คุณภาพของประชาธิปไตย เป็นหลัก โดยเน้นว่า

 “ ถ้าประชาชนมีคุณภาพดี ประชาธิปไตยก็มีคุณภาพดีด้วย ถ้าประชาชนมีคุณภาพต่ำ ประชาธิปไตยก็จะเป็นประชาธิปไตยอย่างเลวด้วย เพราะว่า คุณภาพของประชาธิปไตย ขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน แล้วคุณภาพของประชาชนขึ้นต่ออะไร ก็ขึ้นต่อการศึกษา ” เพราะ การ ศึกษาจำเป็นต่อประชาธิปไตย หรือพัฒนาประชาชนให้ทำหน้าที่หรือใช้อำนาจตัดสินใจอย่างได้ผลดี คือ ให้เสียงข้างมากที่จะใช้วินิจฉัย เกิดจากการตัดสินใจของคนที่เป็นบัณฑิต หมายถึง คนดีมีสติปัญญาและให้การตัดสินใจของคนที่เกิดจากความต้องการที่มาประสานกับ ปัญญาที่รู้ และให้เลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

 เอกสารอ้างอิง บทความจากหนังสือความรู้คู่คุณธรรม เขียนโดย นายภิญโญ สาธร
 บทความเรื่องความคิดทางการเมือง : ประชาธิปไตย ตามแนวคิดพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)
 เขียนโดย ดร. สุรพล สุยะพรหม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น